มท.ฝึกซ้อมรับมือ “สึนามิ” 6 จังหวัดอันดามัน ทุกภาคส่วนร่วมคึกคัก

หมวดหมู่ : ภูเก็ต, ทั่วไป,

อ่าน : 156
มท.ฝึกซ้อมรับมือ “สึนามิ” 6 จังหวัดอันดามัน ทุกภาคส่วนร่วมคึกคัก

ภูเก็ต-กระทรวงมหาดไทย ยกทีมฝึกซ้อมรับมือสึนามิ 6 จังหวัดอันดามัน ภูเก็ต ตรัง ระนอง สตูล กระบี่และพังงา รวมทั้งผู้แทนกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนจากกงสุล 9 ประเทศและภาคประชาชนกว่า 1,000 คนเข้าร่วม เพื่อสร้างความพร้อม-ความเชื่อมั่นตามมาตรฐานสากล

         เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 27 มิถุนายน 2568 น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานในพิธีปิดการฝึกกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ระดับส่วนกลาง) ภายใต้รหัส “Crisis Management Exercise: C-MEX 25” ที่หอประชุมราชประชาร่วมใจ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต โดยมีนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พลโทอนุสรณ์ โออุไร แม่ทัพน้อยภาคที่ 4 กองทัพภาค 4 พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดอีก 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต ตรัง ระนอง สตูล กระบี่และพังงา รวมทั้งผู้แทนกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนจากกงสุล 9 ประเทศและภาคประชาชนกว่า 1,000 คนร่วมชมและติดตามการฝึกซ้อมในครั้งนี้ด้วย

        การฝึก C-MEX 25 จัดขึ้นโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อทดสอบความพร้อมในการบริหารจัดการสาธารณภัยในทุกระดับ ทั้งเชิงนโยบาย อำนวยการ และปฏิบัติการ ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยกิจกรรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อาทิ การเสวนา การฝึกซ้อมอพยพ การแจ้งเตือนภัย การค้นหาและกู้ภัย การตั้งศูนย์พักพิง รวมถึงการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีสนับสนุน อาทิ เฮลิคอปเตอร์ KA-32 เรือความเร็วสูง โดรนกู้ภัย และหอเตือนภัยจำลองสถานการณ์จริง

         นายภาสกร อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า การฝึกครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในการบริหารสถานการณ์วิกฤต โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่เคยประสบภัยพิบัติจากสึนามิในปี 2547 ซึ่งยังคงเป็นบทเรียนสำคัญของประเทศ

         ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณภัยอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันที่มีความเสี่ยง แม้จะไม่เกิดเหตุซ้ำบ่อยครั้ง แต่ต้องไม่ประมาท เราต้องพร้อมรับมือเสมอ

        ทั้งนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะสรุปบทเรียนจากการฝึกครั้งนี้ไปพัฒนาแนวทางปฏิบัติ คู่มือ และแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้แต่ละจังหวัดมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการภัยพิบัติในระดับพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

        รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันทำให้การฝึกครั้งนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ พร้อมเน้นย้ำให้มีการตรวจสอบระบบแจ้งเตือนภัย เครื่องมือ และบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การบริหารจัดการภัยพิบัติของประเทศเป็นไปตามมาตรฐานสากล ภายใต้นโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”.