“สงขลา” ดีเดย์เพิ่มมาตรการเข้มสูงสุด แก้ปัญหาโควิด-19

หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,

อ่าน : 3,588
“สงขลา” ดีเดย์เพิ่มมาตรการเข้มสูงสุด แก้ปัญหาโควิด-19

        สงขลา - พ่อเมืองสงขลา เดินหน้าแก้ปัญหาโควิด-19 หลังจากสงขลาอยู่ในพื้นที่สีแดงต้องควบคุม มีคลัสเตอร์โควิด-19 ระบาดเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ระดมแนวคิดจาก 8 ส.ส.สงขลา สมาคมต่างๆ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุขจังหวัด และนายอำเภอทั้ง 16 อำเภอ เพื่อผนึกพลังชาวสงขลาเปิดเกมส์รุกหามาตรการสูงสูด เร่งแก้ไขปัญหาโควิด-19

        นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมรองผู้ว่าทั้ง 3 คน ได้เปิดเวที “รวมมิตร พิชิตโควิด ...สู้ไปด้วยกัน ชนะไปด้วยกัน” เพื่อรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วนของจังหวัดสงขลา ในการเดินหน้าวางมาตรการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาคารศรีเกียรติพัฒน์ อบจ.สงขลา เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2564 เวลา 15.30 น. โดยมี 8 ส.ส.สงขลา รวมทั้งภาคเอกชน ประกอบด้วย สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา สมาคมโรงแรมสงขลา-หาดใหญ่ หอการค้าจังหวัดสงขลา สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสงขลา สภาอุตสาหกรรมสงขลา สมาคมเอสเอ็มอี จ.สงขลา YEC จังหวัดสงขลา รองเจ้าคณะจังหวัดสงขลา และผู้นำศาสนาอิสลามสงขลา เข้าร่วมประชุมกัน

        ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวเปิดประเด็นการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีผู้เชื้อโควิด 4,716 ราย แยกเป็นประชาชนทั่วไป 3795 ราย และในเรือนจำ 995 ราย วันนี้พบผู้ป่วยที่สัมผัสผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูง สำนักงานสาธารณสุขส่งเจ้าหน้าที่รุกคืบคัดกรองเชิงรุกในชุมชนกลุ่มเสี่ยง โดยจังหวัดสงขลารุกตรวจกลุ่มเสี่ยง ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในกลุ่มคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้เดินทางกลับจากโรงเรียนสอนศาสนา ในพื้นที่ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง วันที่ 26 มิ.ย.2564 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 215 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และพบผู้ป่วยจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก ในกลุ่มพนักงานโรงงานอุตสาหกรรม 5 แห่ง จำนวน 27 ราย ผู้ป่วยยืนยันทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรการกักกันตัวควบคุมโรค โดยมิได้มีการสัมผัสกับบุคคลภายนอกและชุมชน

        วันนี้เรามาหาทางออกร่วมกัน พร้อมเต็มใจรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อเปิดเมืองยุติโควิดภายใน 120 วัน ตามนโยบายของรัฐบาล วัคซีนโควิดทั้งหมดต้องมาก่อนเดือนกันยายน คือ ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม สิงหาคม ให้ครบ 70% ทั้งจังหวัด ให้ทันกับเวลาเปิดประเทศ” ผวจ.สงขลา กล่าว

        นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา กล่าวว่า วันนี้ไม่ได้มาไล่ผู้ว่าฯ มาวิเคราะห์หาช่องว่างที่จะให้ ส.ส.สงขลา มาช่วยเสริมแก้ปัญหาโควิด-19 เราใช้งบส่วนกลางและเงินกู้แก้โควิด-19 รัฐไม่มีปัญหาในการจัดซื้อวัคซีนเลย แต่ไม่เห็นด้วยที่ อปท.จัดซื้อวัคซีนเอง เนื่องจาก อปท.ต้องนำงบมาแก้ปัญหาพื้นฐานของท้องถิ่นที่กำลังรอพัฒนาอีกมาก และ ส.ส.ทุกคนต้องช่วยกันจัดหาโควต้าวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนชาวสงขลาโดยเร่งด่วน

        ส่วน นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั้งประเทศครบ 70% รวมทั้งจังหวัดสงขลาในเดือนกันยายน ให้ ผวจ.สงขลา ทำหนังสือด่วนถึง ศบค.กลาง จัดสรรวัคซีนให้ประชาชน

        ด้าน นายสุรพล กัมพลานนท์วัฒน์  นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ถ้าไม่มีวัคซีนฉีดให้ประชาชน เราไม่ต้องพูดถึงการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว การฟื้นเศรษฐกิจ

        ขณะที่ นายศิวัฒน์ สุวรรณวงศ์ นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา กล่าวว่า ทางจังหวัดมาติดต่อสอบถามว่ามีโรงแรมไหนสนใจเป็นสถานกักตัวกลุ่มเสี่ยงบ้าง แต่เรื่องก็เงียบหายไป ไม่มีความชัดเจนเรื่องอะไรเลย แค่มาสอบถามเฉยๆ

        นายธนวัฒน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับ อปท.และเอกชนที่ให้จัดซื้อวัคซีนเอง จะเกิดความไม่เท่าเทียมในพื้นที่ บางเทศบาลมีเงินเยอะ บางเทศบาลไม่มีเงิน เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนให้บริการประชาชน และไม่เห็นด้วยกับมาตรการปิดแคมป์คนงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ส่งผลต่อภาคการผลิต อาจกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม

        นายวรณัฏฐ์ หนูรอต รอง ผวจ.สงขลา กล่าวว่า สงขลากำลังอยู่ในสมรภูมิภัยพิบัตโควิด วันจันทร์นี้จะมีมาตรการเข้มงวดสูงสุด พร้อมยอมรับการประชาสัมพันธ์ของจังหวัดที่ไม่เข้าถึงประชาชนให้ตรงเป้าหมาย เนื่องจากเป็นรูปแบบราชการ พร้อมยกระดับการประชาสัมพันธ์ของจังหวัด ด้วยการดึงสื่อภายนอก เพจต่างๆ และกลุ่มที่คิดต่างมาเป็นที่ปรึกษาการประชาสัมพันธ์จังหวัดทันที

        ด้าน นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ได้เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ 2,000 เตียง ใช้เวลา 2-3 วัน เต็มทุกโรงพยาบาลสนาม ความกังวลของประชาชนที่เปิดโรงแรมเป็นสถานกักตัวกลุ่มเสี่ยงในตัวเมืองหาดใหญ่ เรื่องนี้ไม่มีความเสี่ยงกับประชาชนเพราะมีการเข้าไปควบคุมบำบัดของเสียของโรงแรม เหมือนโรงพยาบาลในเมืองหาดใหญ่มี 6 โรงพยาบาล ที่ไม่มีประชาชนต่อต้าน เพราะเชื้อไม่ออกมาสู่ภายนอก ยกตัวอย่างที่บ้านด่านนอก ชาวบ้านไม่มีการต่อต้านเลย.