สสส. ลุยภาคใต้ ดันพื้นที่ปลอดบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า สกัดภัยเงียบ Toy Pod เจาะเด็ก เยาวชน

หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, สงขลา,

อ่าน : 166
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ToyPod บุหรี่ไฟฟ้า
สสส. ลุยภาคใต้ ดันพื้นที่ปลอดบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า สกัดภัยเงียบ Toy Pod เจาะเด็ก เยาวชน

            สงขลา - สสส. สานพลัง เครือข่าย อปท. ร่วมปกป้องพื้นที่ภาคใต้ไร้บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า พบสถิติคนไทยป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้า 4 โรคร้าย ปี 67 สูญเงินค่ารักษาผู้ป่วย 3 แสนล้านบาท ห่วงบุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ Toy Pod แทรกซึมเข้าถึงเยาวชนได้ง่ายในสถานศึกษา ดึงกลไกศาสนาสกัดนักสูบหน้าใหม่

     สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมศักยภาพและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการเพิ่มประสิทธิภาพ การควบคุมการบริโภคบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่ประกอบด้วย นายก ปลัด ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักวิชาการ ผู้นำชุมชน และภาคีเครือข่ายเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเสนองานต้นแบบของการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างมีประสิทธิภาพในระดับพื้นที่ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 ที่โรงแรมคริสตัล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

     น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ในปี 2567 พบคนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 900,459 คน เด็กเยาวชน อายุ 13-15 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่าใน 7 ปี ภาคใต้เป็นอันดับ 1 ที่พบผู้สูบบุหรี่สูงที่สุด สสส. เดินหน้าขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนในภาคใต้ เพื่อป้องกัน และลดการใช้บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด โดยสนับสนุน และผลักดันให้เกิดสถานศึกษาปลอดบุหรี่ และพัฒนาสื่อรณรงค์ พร้อมสร้างเครือข่ายสถานศึกษาปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ พัฒนาศักยภาพครูแกนนำ และเยาวชนนักสื่อสารเรื่องบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ที่สามารถส่งต่อข้อมูลความรู้ความเข้าใจถึงพิษภัยบุหรี่ในกลุ่มวัยเดียวกัน และทำให้สามารถตัดสินใจเลือกการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยตัวเอง

     ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่แบบไอระเหย (heated tobacco product) หรือ HTP ซึ่งเป็นนิโคตินสังเคราะห์ ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย และทำให้เสพติด ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า นิโคตินเป็นสารเสพติดสูง และผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ายังเสี่ยงป่วยจาก 4 โรคคือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหอบหืด ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2567 พบต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของโรคที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า ระยะยาวกว่า 306,636,973 บาท” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว

     ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในระดับชุมชน สสส. มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในระดับตำบล ผ่านกลไกสำคัญ คือ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะประเด็น (ศชช.), ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน (ศจค.) และ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเฉพาะประเด็น (ศปง.) เพื่อพัฒนาความสามารถของพื้นที่ในการจัดการกับปัจจัยเสี่ยง และเพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาพเป้าหมายสำคัญ คือลดอัตราการสูบบุหรี่ในพื้นที่ลงไม่น้อยกว่า 10% ของคนสูบบุหรี่ในพื้นที่ ที่เก็บจากระบบข้อมูล TCNAP สสส. มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ชุมชนมีทักษะในการรับรู้สถานการณ์ เข้าใจปัญหา มีข้อมูลในการวางแผนพัฒนาและสามารถจัดการได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

     “‘ก้าวต่อไป’ ในงานชุมชนท้องถิ่นของ สสส. มุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาอย่างเป็นระบบใน 4 มิติ ได้แก่ 1.พัฒนาศักยภาพผู้นำและบุคลากรในชุมชน ให้สามารถรู้เท่าทันธุรกิจบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 2.สนับสนุนระบบข้อมูล สำหรับใช้ติดตาม วางแผน และควบคุมการบริโภค 3.จัดหาเครื่องมือ ชุดความรู้ และสื่อรณรงค์ ที่สามารถเข้าถึงและใช้ได้จริงในแต่ละพื้นที่ 4.ผลักดันให้งานควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของ “งานประจำ” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ” ดร.นิสา กล่าว

     รศ.ดร.พญ.รัศมี โชติพันธุ์วิทยากุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ กล่าวว่า ไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากสารเสพติด โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในกลุ่มเด็กและเยาวชน ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าถูกออกแบบให้ดึงดูดสายตาเด็ก ทั้งสีสัน ลวดลายการ์ตูน และรูปร่างคล้ายของเล่น ทำให้เด็กบางคนอยากสะสมโดยไม่รู้ว่าเป็นสิ่งเสพติด เด็กหลายคนถึงกับถามพ่อแม่ว่า “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” หลังเห็นเพื่อนนำมาอวดที่โรงเรียน การใช้บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลต่อพัฒนาการสมอง เสี่ยงภาวะสมาธิสั้นเทียม นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังแทรกซึมเข้าไปในสถานศึกษาทั่วประเทศ ทำให้การเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจแก่เด็กและเยาวชนผ่านระบบการศึกษา เสริมทักษะการปฏิเสธ พร้อมผลักดันกฎหมายที่เข้มงวด และขับเคลื่อนร่วมกับ อปท.โดยมี Ottawa Charter เป็นเข็มทิศสำคัญในการสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่

     น.ส.ธิดารัตน์ หนูช่วย นักวิชาการศึกษา เทศบาลตำบลเกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา กล่าวว่า เทศบาลตำบลเกาะแต้ว ได้ขับเคลื่อนพื้นที่ปลอดบุหรี่โดยเน้นการมีส่วนร่วมของศาสนาและการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ผ่านแนวทาง “มัสยิดปลอดบุหรี่” และ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปลอดบุหรี่ 100%” โดยจัดทำข้อตกลงร่วมกับผู้นำศาสนาให้มัสยิดทุกแห่งปลอดควันบุหรี่ และใช้หลักศาสนาเป็นแนวทางกำกับพฤติกรรม ในขณะเดียวกัน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเทศบาลยังรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันเด็กปฐมวัย ด้วยกิจกรรมสื่อสาร สอดแทรกเรื่องการลด ละ เลิกบุหรี่ในแผนการเรียนรู้ เพื่อสร้างจิตสำนึกตั้งแต่วัยเยาว์

     นายยุสรี เจะนา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ อบต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส กล่าวว่า อบต.โคกเคียนได้ผลักดันการควบคุมการสูบบุหรี่ตามหลักศาสนาอิสลาม ด้วยโมเดล “มัสยิดปลอดบุหรี่” โดยมีกฎชุมชนชัดเจน เช่น ห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณมัสยิด หากฝ่าฝืนจะมีการตักเตือน ปรับเงิน และบำเพ็ญประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบรรยายธรรม สื่อสารพิษภัยของบุหรี่หลังละหมาด และจัดกิจกรรมกับเยาวชนในชุมชนเพื่อสร้างแกนนำรุ่นใหม่ ลด ละ เลิกบุหรี่ ผลลัพธ์เด่นคือจำนวนผู้เลิกบุหรี่เพิ่มขึ้น และเกิดแกนนำสุขภาพในพื้นที่มากถึง 100 คน.



 


อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :